วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ทริป อ.จิ๋ว 4-12 ก.ค.2552

5 ก.ค.2552 (วันที่ 2)
เช้านี้เราใช้ชีวิตกันอยู่ที่ ลำปาง วันนี้เหมือนฝนฟ้าไม่ค่อยเป็นใจนัก ฝนตกพรำๆ ตั้งแต่เช้า ก่อนออกกินข้าวที่ร้านข้าวซอยโอมา ข้างโรงแรมที่เราพัก อร่อยมาก....แต่ว่าอย่าเผลอใส่พริกเท่าที่กินปกติที่อื่น พริกเผ็ดมากกก อาจจะต้องทิ้งทั้งชาม นอกจากข้าวซอยแล้วร้านนี้ก็ยังมีขนมปังหน้าหมู หมูสะเต๊ะ สองอย่างนี้ก็อร่อยดี พอกินอิ่ม แล้วยังเหลือเวลาเพราะนัดกันไว้จะออกตอน 8 โมง ก็เลยเดินไปที่ตลาด ที่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากโรงแรม ซึ่งจริงๆแล้วตลาดก็ไม่ได้มีของอะไรขายมากมายนัก แต่ก็พอหาซื้ออะไรเป็นเสบียงเตรียมไว้สำหรับการเดินทางได้ พอมีพวกเราไปทีร้าค้าแถวนั้นขายดีขึ้นเป็นเทน้ำเทท่า ร้านหมูทอดหยิบกันไม่ทันเลย แล้วก็เดินเข้าเซเว่น เตรียมตัวรับมือกับฝนเท่าที่จะทำได้ ถึงฝนตกก็ไม่มีอะไรหยุดเราได้ ฮ่าๆๆๆ
8 โมงกว่าๆ ออกเดินทาง เป้าหมายแรกที่เราไปกันวันนี้คือ

วัดไหล่หิน พอมาถึง อ.จิ๋ว ก็อธิบายให้ฟัง ในด้านของสถาปัตยกรรมของวัด ในเรื่องลักษณะของอาคาร การใช้สัดส่วน ระนาบ รวมไปถึงวัสดุต่างๆที่นำมาใช้นั้น ล้วนเกิดขึ้นจากภูมิปัญญา การใช้ลานทรายที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมการใช้งานสถาปัตยกรรมของมนุษย์ ในสมัยก่อนคนที่เดินเข้าวัดนั้นจะถอดรองเท้าตั้งแต่ผ่านสิงห์หน้าประตูวัด และเดินเท้าเปล่าผ่านลานทรายเข้ามายังตัววัด หากวัสดุที่ปูพื้นนั้นเป็นกรวดหรือหิน ก็จะร้อนและเจ็บเมื่อเดิน การลวงตาเพื่อแสดงว่าอาคารนั้นมีขนาดใหญ่มากเกินจริง ด้วยการสร้างฉากหลัง และการเล่นระนาบต่างๆที่สวยงาม ที่เกิดจากวัสดุที่ซ้อนทับกัน เกิดเส้นหนาบาง มีมิติ การลดหลั่นซ้อนทับกัน และฝากความคิดที่ว่า การที่จะสร้างสถาปัตยกรรมใหม่รายรอบสถาปัตยกรรมที่มีอยู่เดิมนั้น ควรจะตระหนักว่า สิ่งใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นจะต้องไม่รบกวนลักษณะและรูปแบบเดิมที่มีอยู่ ภายหลังจากการบรรยายของอาจารย์ ก็เข้าไปในตัววัด ซึ่งมีขนาดไม่ใหญ่ นัก มีวิหารคดอยู่รอบนอก ตรงกลางเข้าไปเจอวิหาร และมีเจดีย์อยู่ด้านหลัง เป็นโครงสร้างก่ออิฐผสมผสานกับโครงสร้างไม้ วิหารมีขนาดเล็ก แต่เมื่อเข้าไปสัมผัสภายในรู้สึกว่าใหญ่กว่าที่ตาเห็น โครงสร้างเป็นแบบล้านนา มีการลดชั้นหลังคา ไม่มีการตีฝ้าเผยให้เห็นโครงสร้างภายในได้อย่างชัดเจน อ.จิ๋วกล่าวว่าการไม่มีฝ้าเพื่อให้สะดวกต่อการใช้งาน หากมีการรั่วซึมก็สามารถรู้จุดที่รั่วและแก้ไขได้ทันที วิหารแห่งนี้ยังคงลักษณะเดิมเอาไว้ได้มาก แต่บริบทรอบด้านนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปโดยไม่เข้ากับสภาพเดิม กระทบกระเทือนต่อภาพลักษณ์เดิมเป็นอย่างมาก

เป้าหมายที่สองของวันนี้คือ วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นวัดที่มีขนาดใหญ่และมีความสำคัญของจังหวัดลำปางเป็นอย่างมาก มีลักษณะล้านนาในรูปแบบของลำปาง สภาพในภูมิทัคน์ ณ ตอนนี้ถูกรบกวนจากสิ่งปลูกสร้างแบบใหม่ จนแทบไม่เหลือรูปแบบเดิม ลักษณะของอาคาร ด้านบนเมื่อเข้าไปจะพบวิหารอยู่ด้านหน้า อย่างกระชั้น ทางเข้าเล็กแคบบีบ เมื่อแหงนหน้ามองเจอวิหารขนาดใหญ่ด้านหน้า ก่อให้เกิดความรู้สึกตกตะลึง รอบนอกมีพื้นที่เป็นวิหารคด ทางด้านซ้ายมือเป็นลานทราย แต่ทางด้านขวามถูกปรับสภาพให้เป็นพื้นอิฐ ทำให้เกิดความแข็งกระด้างไม่เหมือนกับลานทราย สิ่งเหล่านีข้ามาเพราะสภาพความใช้งานที่ปรับเปลี่ยนไปตามการใช้งานของมนุษย์ ซึ่งบ้างครั้งมิได้คำนึงถึงสภาพทางวัฒนธรรมเดิม อีกหนึ่งตัวอย่างที่เห็นภายในวัดนี้คือวิหารท่อยู่ทางด้านขวามือ ซึ่งเป็นวิหารสองวิหาร หนึ่งได้รับการบรูณะปฏิสังขรใหม่ อีกวิหารหนึ่งยังไม่ได้ปฏิสังขร ในส่วนตัวของข้าพเจ้าแล้วเรื่องความงานหรือสัดส่วนที่มองเห็นนั้น ข้าพเจ้าคิดว่า วิหารที่ยังไม่ได้รับการบรูณะนั้นสวยงามกว่ามาก ทั้งในเรื่องของเส้นหนาบาง ระนาบต่างๆตามที่อ.จิ๋วเคยได้กล่าวไว้ หลังคาที่เป็นกระเบื้องแบบใหม่นั้นยังไม่กลมกลืนกับส่วนอื่นๆ ขณะที่อยู่ภายในวิหารอาจารย์ได้มีการเสนอความคิดทางด้านอนุรักษ์ เพราะขณะนี้ที่พระธาตุลำปางหลวงนั้น กำลังมีการบรูณธใหม่โดยกรมศิลปากรอยู่ โดยมีพวกเรานั่งฟังอยู่ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งก็แยกย้ายกันไปถ่ายรูปตามที่ต่างๆ การอนุรักษ์นั้นเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนมาก ไม่ว่าจะมีการทำในรูปแบบไหนนั้นก็มีความเป็นไปได้ในการขัดแย้งสูง เนื่องจากทรรศนคติและแนวความคิดที่ไม่ตรงกัน ซึ่งในความเป็นจริงนั้นการอนุรักษ์เป็นไปได้หลายรูปแบบ อาจารย์ท่านแรกมีแนวความคิดในการอนุรักษ์ในรูปแบบ คงไว้ซึ่งของเดิม รักษาความเป็นของแท้ ไม่ให้มีการทำลายปล่อยให้เป็นโบราณสถานที่เก่าไปตามกาลเวลา หรือหากจะมีการปรับปรุงนั้นก็ความที่จะศึกษาอย่างแน่ชัดว่าของเดิมนั้นเป็นอย่างไร หากทำแล้วจะได้เหมือนเดิมจริงหรือไม่ บางครั้งความสวยงามที่เกิดขึ้นนั้น อาจมาจากส่วนเล็กๆหลายๆส่วนมารวมกัน ทั้งความประณีตในการฉาบปูน วัสดุที่ใช้แตกต่างกัน สี หากมีการทำใหม่ก็เหมือนเดิมได้ยาก นักวิชาการนักอนุรักษ์ในบ้านเรานั้นแบ่งประเภทของโบราณสถานที่มีชีวิตอยู่หรือตายเพื่อที่จะมีการอนุรักษ์ที่ต่างกันซึ่งก็ไม่มีถูกหรือผิดที่ชัดเจน ส่วนอาจารย์ท่านที่สองมีแนวความคิดในการอนุรักษ์ว่าการปรับปรุงหรือบูรณะก็เป็นอารอนุรักษ์ในอีกรูปแบบ เพื่อดำรงไว้ซึ่งสถาปัตยกรรมไม่ให้เสื่อมไปตามกาลเวลา คงไว้ซึ่งเส้นสายที่สำคัญในงานสถาปัตยกรรม รักษาความเป็นรูปแบบเดิมไว้ให้มาก ซึ่งหลังจากที่นั่งฟัง อาจารย์ทั้งสองท่านที่มีความคิดในเรื่องการอนุรักษ์ของแต่ละท่านแล้วก็รู้สึกว่า บางครั้งตัวเราเองยังมีความใส่ใจกับเรื่องเหล่านี้อยู่น้อยมาก ทำอะไรสนองตัณหาของตัวเองและลูกค้าจนลืมผู้ที่สำคัญที่สุดของอาคารแต่ละที่ไปคือ ผู้ใช้อาคารและชุมชนแห่งนั้น หลังจากฟังอ.ทั้งสองท่านเสร็จก็ไปกินข้าวกลางวัน
กินข้าวกลางวันที่ร้านค้าบริเวณวัดเสร็จ ก็เดินกลับขึ้นไปบริเวณรอบๆวิหารต่อเพื่อจะดู งานสถาปัตยกรรมให้ครบ แล้วเจอ อ.ไก่นั่งอยู่ อาจารย์เลยเรียกไปคุยด้วยในเรื่องที่ได้รับฟังก่อนไปกินข้าว โดยเริ่มแรกอาจารย์ก็ถามความเข้าใจในเรื่องที่ได้ฟังอาจารย์คุยกัน แล้วอ.ไก่ก็สรุปเปรียบเทียบให้ฟังว่าการอนุรักษ์ ก็เปรียบเสมือการมีมะม่วงผลหนึ่งอยู่ แล้วเราจะเก็บรักษามันด้วยวิธีใด ซึ่งมะม่วงผลนั้นอาจจะเก็บด้วยการดองเค็ม การแช่อิ่ม การกวน ซึ่งแต่ละวิธีก็สามารถยืดระยะเวลาได้ยาวขึ้น ซึ่งก็ไม่มีอันไหนผิดหรือถูก แต่ทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับว่าสิ่งที่ทำนั้นมันจะเหมาะสมกับลักษณะไหนและสถานการณ์แบบไหน อาคารลักษณะ ซึ่งแต่ละแบบอาจจะต้องการการอนุรักษ์ที่ไม่เหมือนกัน แต่ควรจะสรุปให้ได้ว่าสำหรับอาคารที่จะอนุรักษ์แห่งหนึ่งนั้น ลักษณะไหนที่จะดีที่สุดสำหรับอาคารแห่งนี้ ซึ่งก็หมานถึงการเลือกรูปแบบที่เหมาะสมในการอนุรักษ์ หลังจากจบการสนทนาเรื่องการอนุรักษ์ ก็ได้เดินไปดูหอสรงน้ำ ซึ่งหอสรงน้ำเป็นหอขนาดเล็ก ตั้งอยู่ด้านหลังของวัด แต่มีสัดส่วนที่สวยงามโดยย่อมาจากอาคารขนาดใหญ่ โดยไม่ได้ใช้ทุกอย่าง ลดทอนองค์ประกอบได้ดี โครงสร้างที่ใช้สวยงาม ซึ่งอาคารในลักษณะนี้หาได้ยากมาก
เป้าหมายที่สามของวันนี้คือ วัดโปงยางคก เป็นวิหารที่มีขนาดเล็ก มีความเป็นท้องถิ่นที่บริสุทธิ์ ลานทราย พืชพรรณต่างๆ เปล่งคุณค่าของท้องถิ่นอย่างเต็มที่ ถูกรบกวนจากสิ่งอื่นที่เป็นของเทียม วัดนี้มีความสวยงามในทางสถาปัตยกรรมเป็นอย่างมาก มีวิหารตามลักษณะของล้านนา ภายหลังพื้นลานทรายด้านนอกได้ถูกถมและโรยกรวด ซึ่งกรวดที่โรยนั้นทำเห็นเกิดความเจ็บเวลาเดิน ขนาดด้านนอกที่ดูเล็ก แต่เมื่อเข้าไปภายในกลับดูใหญ่ขึ้นอย่างแปลกตา
หลังจากที่วันนี้ดูวัดมาหลายวัดแล้ว ก่อนกลับก็ได้แวะ ดูบ้านที่สร้างจากภูมิปัญญาพื้นถิ่น ยุ้งข้าว ประมาณสามหลังและก็กลับที่พัก ตอนค่ำกินข้าวร้านตี๋น้อย ไม่อร่อยมากกก ต้มยำรสชาติเหมือนต้มข่าไก่
วันนี้อ.จิ๋วได้พูดว่า ความเป็นท้องถื่นที่บริสุทธิ์ Landscape ลานทราย พืชพรรณ จะเปล่งคุณค่าของท้องถื่นอย่างเต็มที่ เทคโนโลยีที่ใหม่ๆที่เกิดขึ้น นำมาประกอบให้สามารถอยู่ด้วยกันได้ โดยการนำเอาภูมิปัญญาเดิมมาปรับปรุงให้เข้ากับความทันสมัย พึ่งตัวเองได้ใช้ไม้เดือย สลัก ลายวิจิตรพิสดาร เส้น หนาบาง รวมกันกับความแวววาวของลวดลายซึ่งเป็นภูมิปัญญาของช่างฝีมือของช่างในอดีต ความสัมพันธ์ของที่โล่งที่มีต่ออาคาร เสื่อ กระถางต้นไม้ ล้วนเป็นความรู้ที่ถูกพัฒนาสืบต่อกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น