12 ก.ค.2552 (วันที่ 9)
วันสุดท้ายแล้ว เก็บของออกจากที่พักขึ้นรถแล้วก็เตรียมตัวกลับบ้าน แต่ก่อนกลับเรายังมีที่ที่จะต้องแวะอยู่ คือวัดพระศรีมหาธาตุ วัดนี้มีลักษณะที่เชื่อมต่อกับสุโขทัย วิหารมีการซ้อนทับหลังคาถึง 5 ตับ ซึ่งวัดนี้ถือว่าเป็นสกุลช่างสุโขทัยที่ยังสมบูรณ์อยู่ โถงด้านหลังจะสูงท่สุดเนื่องจากว่าเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช วัดนี้จะมีพระสี่องค์ตั้งอยู่บริเวณทั้งสี่ทิศ เชื่อมประทานกับวิหารคด เห็นกันได้อย่างทะลุทะลวง ซึ่งอารมณ์และจิตวิญญาณที่เกิดจากอาคารที่มีคุณค่าสมบูรณ์คุณค่าจะเกิด หลังจากที่เราเดินดูที่วัดพระพุทธชินราชเสร็จ เราก็เดินข้างถนนไปยัง วัดที่อยู่ใกล้เคียง คือวัดราชบูรณะ วัดนี้ซ้อนหลังคาด้านข้างสามตับ ไม่มีฝ้าเพดานเช่นเดียวกันกับระเบียบของสุโขทัย บริเวณหัวเสาวางไม้กระดานพาดไว้เพื่อเป็นที่รับกลอนชายคาปีกนก หลังคาและช่อฟ้าเป็นแบบสุโขทัย เส้นสายต่างๆถูกกำหนดจากระเบียบ หน้าต่างได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นบานเปิดตามการใช้สอย ซึ่งแต่เดิมรูปแบบของสุโขทัยนั้นจะเป็นช่องตั้ง แต่รัตนโกสินทร์จะเป็นแผ่นกระดาน แนวความคิดหลักของแบบสุโขทัยนั้น เป็นการคิดในลักษณะที่คิด Space เพื่อนำมารับคนที่มาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คิดถึงผู้ใช้อาคารมากกว่าการคำนึงถึงแมสของอาคาร และที่พิษณุโลกนี้ก็เป็นวัดที่มีระเบียบของสุโขทัยที่ยังเหลืออยู่มากที่สุด
วันนี้เป็นวันสุดท้ายจึงขอสรุปสิ่งต่างๆที่ได้จากการมาทริปในครั้งนี้ นอกจากได้รับความรู้ในเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่นและรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยทั้งแบบล้านนาสุโขทัยแล้ว สิ่งที่ได้มากกว่านั้นคือจิตใต้สำนึกที่สะท้อนอยู่ในตัวในฐานะที่ต่อไปอาจจะเป็นส่วนหนึ่งในงานสถาปัตยกรรม ทำให้ต้องคิดให้มากขึ้น เข้าใจความเป็นตัวตนของพื้นถิ่นเรา ไม่พยายามยัดเยียดความเป็นคนอื่นให้กับชาวบ้าน เพราะความเป็นพื้นถิ่นนั้นได้ถูกพัฒนาความรู้ ความเหมาะสมของงาน ตามประสบการณ์ที่ถูกถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่นนั้นได้ผ่านการคัดกรองมาอย่างดีแล้ว แต่วิทยาการสมัยใหม่นี้ยังไม่ได้รับการคัดสรรอย่างดี บางครั้งเราก็ยัดเยียดเทคโนโลยีที่ขัดกับความเป็นอยู่ของพวกเขาเหล่านั้นให้กับเข้ามากเกินไป ซึ่งมันก็ไม่ได้เป็นการส่งผลดีต่อความเป็นบ้าน เป็นเมือง เป็นชุมชนของเราเลย จึงมาย้อนคิดว่าเรายัดเยียดความเป็นใครให้กับเขา เขารู้ตัวตนของเขาดีมากกว่าเราด้วยซ้ำ เพียงแต่ไม่สามารถแสดงออกมาได้ เพียงเพราะถูกกรอบของการศึกษามากำหนดไว้ หลังจากที่ไปเห็นงานพื้นถิ่นตามหมู่บ้านต่างๆแล้ว ต้องยอมรับจริงๆว่า การรับรู้ในเรื่องของ Space มุมมองต่างๆเช่น Visual ที่เราเรียนมานั้น จริงๆแล้วชาวบ้านในที่ต่างๆก็มีมาหรืออาจจะมีมากกว่า เพียงแต่ว่าพวกเขาไม่สามารถสื่อสารออกมาเป็นตัวหนังสือได้เหมือนอย่างเรา การออกทริปครั้งนี้ปรับทัศนคติและมุมมองของข้าพเจ้าให้เปลี่ยนไปจากเดิมสิ่งที่เคยคิดว่าดี วันนี้มันอาจจะไม่ใช่ เมื่อก่อนเราเคยวิ่งไล่ตามใครอยู่ แต่ในความเป็นจริงแล้วข้างหน้าอาจจะไม่มีตัวตอนที่แท้จริง แต่ข้างหลังเป็นสิ่งที่สามารถแสดงออกมาได้ว่าสิ่งที่สร้างมาสำเร็จหรือบรรลุผลได้จริง บางครั้งการหยุดแล้วหันมามองข้างหลังบ้างก็คงจะดี หลายสิ่งสิ่งที่ไม่เคยเห็น เช่น การแสดงความคิดเกี่ยวกับทัศนคติของตนเองในงานวิชาชีพ เรื่องการอนุรักษ์ ทำให้เราทราบว่าวิชาชีพของเราไม่ได้เป็นเรื่องง่ายๆ ที่คิดจะทำอะไรก็ทำ เพราะว่าการทำสิ่งๆหนึ่งขึ้นมา นั้นเรียกได้ว่าเป็นการกระทบกระเทือนส่งผลถึงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้อื่นอีกมากมาย ถึงแม้ว่าจะมีความคิดที่ไม่ตรงกันแต่นั่นก็เป็นเรื่องที่ควรจะปรึกษาหารือเพื่อให้สิ่งที่จะทำเกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ใช้
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น