วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2552
พระพรหมพิจิตร
ประวัติพระพรหมพิจิตร
พระพรหมพิจิตร (อู๋ ลาภานนท์) เกิดวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2433 ภายหลังเปลี่ยนชื่อและนาสกุล ตามบรรดาศักด์ที่เลิกใช้เป็นนายพรหม พรหมพิจิตร และได้รับตำแหน่งเป็นราชบัณฑิต ในวิชาวิจิตรศิลป์ สาขาจิตกรรมสำนักศิลปกรรม สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ
การศึกษา
ปี พ.ศ.2433 ได้ศึกษาหนังสือไทยที่โรงเรียนมหาพฤฒาราม และเข้าเป็นช่างเขียนในกรมโยธา กระทรวงโยธาธิการ พ.ศ.2477
การรับราชการ
พ.ศ.2451 ได้บรรจุเป็นช่างเขียนกรมโยธาธิการ
พ.ศ.2455 กรมโยธาธิการเปลี่ยนนามมาเป็นกรมศิลปากร ย้ายมารับราชการในกรมศิลปากร
พ.ศ.2468 ย้ายไปรับราชการในกรมรองาน กระทรวงวัเป็นเวลา 1 เดือน
พ.ศ.2469 รับหน้าที่อาจารย์แผนกศิลปากรสถานราชบัณฑิตยสภา
พ.ศ.2476 ราชบัณฑิตยสภายุบลง ย้ายมารับราชการในกรมศิลปากร
พ.ศ.2493 เกษียนอายุราชการ ออกรับพระราชทานบำนาญ
ตำแหน่งราชการหน้าที่พิเศษ
-ช่างเขียนชั้น 4,3,2 –ครูเอกชั้น 1 ประณีตศิลปกรรม- ช่างเอกชั้น 1 สถาปัตยกรรม- อาจารย์เอกสถาปัตยกรรม- สถาปนิกกองสถาปัตยกรรม- หัวหน้ากองประณีตศิลปกรรม- หัวหน้ากองหัตถศิลป- ที่ปรึกษาฝ่ายศิลป ประจำกรมศิลปกร-กรรมการสำนักวัฒนธรรมศิลปกรรม- อาจารย์เอกคณะศิลปไทย ครูวาดเขียนเอกโรงเรียนเพาะช่าง- อาจารย์พิเศษคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย- ผู้ก่อตั้งและดำรตำแหน่งคณะบดีคนแรกของคณะสถาปัตยกรรมไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อพ.ศ. 2498
ยศ บรรดาศักดิ์ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์
พ.ศ. 2456 รองเสวกตรี ขุนบรรจงเลขา
พ.ศ. 2462 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย
พ.ศ. 2463 เป็นหลวงสมิทธิเลขา
พ.ศ. 2466 รองเสวกโท หลวงสมิทธิเลขา
พ.ศ. 2467 ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา
พ.ศ. 2471 รองอำมาตย์เอก พระพรหมพิจิตร
พ.ศ. 2480 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย และเหรียญจักรพรรดิมาลา
พ.ศ. 2482 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก
พ.ศ. 2483 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตริตาภรณ์มงกุฎไทย
พ.ศ. 2485 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตริตาภรณ์ช้างเผือก
ชีวิตครอบครัว
สมรสกับพวงเพ็ญ เกิดบุตรด้วยกัน 2 คน คือ
1. พันเอก สมฤทธิ์ พรหมพิจิตร (ถึงแก่กรรม)
2.พันเอก กัมพล พรหมพิจิตร
อาจารย์ พระพรหมพิจิตร ป่วยเป็นโรคหัวใจพิการ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2508 สิริชนมายุได้ 75 ปี และได้รับพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดจักรวรรดิราชาวาส กรุงเทพมหานคร วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2508
ผลงานอนุสรณ์สำคัญ
อาจารย์พระพรหมพิจิตร เป็นผูมีความสามารถรอบรู้เรื่องช่างศิลป์ โดยเฉพาะเชี่ยวชาญเรื่อง สถาปัตยกรรมไทย ทั้งปฏิบัติเองหรือให้คำปรึกษา ซึ่งมีตัวอย่างงานออกแบบดังนี้
1.เขียนตำรา “พุทธศิลปสถาปัตยกรรม” ภาคต้น
2.ออกแบบก่อสร้าง ศาลาโรงธรรม วัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี
3.ออกแบบอาคารหลักก่อสร้างและวางผัง วัดพระศรีมหาธาตุบางเขน กรุงเทพมหานคร
4.ออกแบบก่อสร้าง ศาลาการเปรียญ เมรุ หอระฆัง ซุ้มประตู วัดจักรวรรดิราชาวาส กรุงเทพมหานคร
5.ออกแบบก่อสร้างศาลาการเปรียญ และรั้วด้านหน้า วัดปทุมคงคา กรุงเทพมหานคร
6.ออกแบบก่อสร้าง ศาลาการเปรียญ และเมรุวัดไตรมิตรวิทยาราม กรุงเทพมหานคร
7.ออกแบบก่อสร้าง ศาลาการเปรียญวัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม กรุงเทพมหานคร
8.ออกแบบก่อสร้างหอระฆัง วัดยานนาวา กรุงเทพฯ
9.ออกแบบก่อสร้างพระอุโบสถ วัดมณฑป จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
10.ออกแบบก่อสร้างศาลาการเปรียญ และรั้วกั้นเขตสังฆวาส วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม
11.ออกแบบก่อสร้างพระเจดีย์ยุทธหัตถี จังหวัดสุพรรณบุรี
12.ออกแบบก่อสร้างหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ
13.ออกแบบพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพ รัชกาลที่ 8
14.ออกแบบพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ณ ท้องสนามหลวง
15.ออกแบบก่อสร้างอาคารประกอบพิธีฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ณ ท้องสนามหลวง
16.ออกแบบก่อสร้างอาคารศาลาไทยจัดแสดงงาน ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
17.ออกแบบก่อสร้างซุ้มประตูสวัสดิโสภา ทางเข้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
18.ออกแบบก่อสร้างประตูดุสิตศาสดา ในพระบรมมหาราชวัง
19.ออกแบบห้องเก็บพระบรมอัฐิพระบรมวงศานุวงศ์ รวมทั้งการตกแต่งภายใน ที่หอพระราควัดพระศรีรัตนศาสดาราม
20.ออกแบบก่อสร้างอนุเสาวรีย์พระยารัษานุประดิษฐ์ฯ จังหวัดตรัง
21.ออกแบบดวงตราพระคเณศ ประจำกรมศิลปากร
22.ออกแบบตราเครื่องหมายประจำกระทรวง ทบวง กรม และจังหวัดต่างๆ หลายจังหวัด
23.ออกแบบปรับปรุงตราประจำตัวของเจ้าพระยาสมเด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล)
24.ออกแบบม่านเทพนมหน้าเวทีโรงละครแห่งชาติ
25.ออกแบบพระโกศทองคำบรรจุพระบรมอัฐิ รัชกาลที่ 8 ฯลฯ
นอกจากนี้ในวัยหนุ่ม อาจารย์พระพรหมพิจิตร ยังเป็นลูกมือช่วยคัดลอกลงเส้นในงานออกแบบเขียนลาน รวมทั้งทำหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างต่างๆ ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ สำเร็จด้วยดีทุกครั้ง และเป็นศิษย์ที่สมเด็จครู ทรงโปรดปรานพระทัย เรียกหาใช้สอยใกล้ชิดผู้หนึ่ง
ศาสตราจารย์พระพรหมพิจิตรกับงานคอนกรีตในสถาปัตยกรรมไทย
ในสถาปัตยกรรมไทยนั้นเดิมทีมีโครงสร้างเป็นไม้ ต่อมาอาคารประเภทพระอุโบสถ พระวิหาร การเปรียญกุฏิ ได้เริ่มมีตัวอาคารกลายเป็นอิฐ ปูน แต่องค์ประกอบทุกอย่างของหลังคาไม่ว่าจะเป็นรวย ลำยอง ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ลายหน้าบัน ลายอุดปีกนก ลายอุดเต้า กระจังฐานพระ แผงแรคอสอง กรอบหน้านาง ลายรวงผึ้ง ลายสาหร่าย หรือแม้แต่นกนาคก็ยังคงทำด้วยไม้มิได้เปลี่ยนแปลง รวมไปถึงหลังคาอาคารต่างๆอีกมากมายด้วย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยอด หรือพระที่นั่ง ทั้งหมดล้วนยังคงเป็นไม้ อันเป็นเหตุทำให้เมื่อการเวลาผ่านนานไปทำให้โครงสร้างไม้เหล่านั้นถูกกาลเวลาทำให้หายสาบสูญไปอย่างน่าเสียดาย
เมื่อต้องการความคงทนที่ง่ายต่อการดูแลรักษา จึงเกิดวิธีใช้ไม้เป็นโครงสร้างแล้วก่ออิฐฉาบปูน องค์ประกอบสิ่งตกแต่งก็จะเป็นปูน ด้วยวิธีการนั้นการหล่อแล้วนำไปตกแต่งจึงเกิดขึ้นและเนื่องจากการที่แต่เดิมนั้นลวดลายต่างๆได้เกิดขึ้นจากการทำด้วยไม้ทำให้ปูนที่ถูกใช้นำมาตกแต่งมีทรวดทรงเป็นลักษณะเหมือนทำด้วยไม้ทุกอย่าง ทั้งนี้เนื่องมาจากช่างไทยในสมัยก่อนนั้นยังไม่ทราบถึงคุณสมบัติของปูนอย่างแท้จริง
ต่อมาเมื่อศาสตราจารย์พระพรหมพิจิตร (อู๋ ลาภานนท์) ท่านได้เริ่มเข้าใจถึงคุณสมบัติของปูนหรือคอนกรีตแล้ว ดังจะเห็นได้จากสิ่งตกแต่งของเครื่องปิดเครื่องมุง ทั้งที่เป็นรวยระกา หางหงส์ ที่มีสัดส่วนที่สั้นลง ลวดลายต่างๆที่ปลายจะสะบัดไม่มากเท่าไม้ ซึ่งงานสถาปัตยกรรมของท่านที่แสดงให้เห็นถึงเรื่องนี้ก็คือพระอุโบสถวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน พระอุโบสถวัดมณฑป อยุธยา
เมื่อศาสตราจารย์พระพรหมพิจิตรได้ผลิตผลงานสถาปัตยกรรมไทยชิ้นต่อๆมา ท่านจึงได้เข้าใจถึงคุณสมบัติของคอนกรีตเป็นอย่างดี ผลงานของท่านจึงแสดงให้เห็นถึงอัจฉริยะในการสร้างสรรค์งานคอนกรีตในสถาปัตยกรรมไทย ท่านได้ปรับปรุง รูปทรง สัดส่วน ลักษณะ และจังหวะของงานสถาปัตยกรรมไทยให้เหมาะสมกับงานคอนกรีตงานชิ้นเอกของท่านที่แสดงออกถึงสิ่งเหล่านี้คือ ประตูพระบรมหาราชวังด้านหน้าวัดพระศรีรัตนศาสดารามที่มีชื่อว่า ประตูสวัสดิโสภา ที่ท่านเป็นผู้ออกแบบ ท่านคงได้ศึกษารูปทรงของของประตูยอดปรางค์เก่าผสมกับความเข้าใจในสมบัติของคอนกรีต ท่านจึงได้คัดรูปแบบต่างๆทั้งตัวประตู ยอด รวมทั้งองค์ประกอบ ที่สามารถสร้างโดยใช้คอนกรีตแต่ยังคงรูปร่างไม่ผิดไปจากลักษณะเดิมเลย
นับได้ว่าศาสตราจารย์พระพรหมพิจิตรเป็นช่างหรือ สถาปนิกท่านแรกที่ริเริ่ม และบุกเบิกในการนำคอนกรีตมาใช้ในงานสถาปัตยกรรมไทยให้ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นเลิศในประเทศไทย
แม่..
แม่...เป็นคำที่ลูกเกือบทุกคนพูดได้เป็นคำแรก...
แม่...เป็นคนแรกที่ทำให้รู้ถึงความรักความห่วงใย ที่คนๆหนึ่งจะมีให้คนอีกคนหนึ่ง...
แม่...เพียงคำพูดอาจจะดูธรรมดา คำสั้นๆคำหนึ่ง ที่แสดงถึงความหมายที่ยิ่งใหญ่...เพราะคำนี้แสดงถึงคุณค่าของชีวิต เป็นผู้สร้างชีวิตหนึ่งหรือหลายๆชีวิตขึ้นมา บนโลก
ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร หรือมาจากไหน คุณปฏิเสธ ไม่ได้ว่า คุณไม่มีแม่...ผู้หญิงคนหนึ่งที่ให้กำเนิดคุณมา ให้ชีวิตและลมหายใจของคุณบนโลกกลมๆใบนี้ ความรักที่แม่มีให้กับลูกนั้นมันช่างยิ่งใหญ่เกินกว่าที่จะบรรยายเป็นคำพูดได้
ชีวิตเก้าเดือนแรกของข้าพเจ้า ถูกห่อหุ้มด้วยความรักและความห่วงใย อยู่ในท้องของแม่ ในขณะที่ข้าพเจ้าตัวเริ่มโตขึ้นเรื่อยๆ ก็แสดงให้เป็นว่าความเจ็บปวด เหนื่อยและทรมานของแม่นั้นก็มีมากขึ้นตาม แต่แม่ก็ยังคอยเฝ้าประคบประหงมให้ตัวข้าพเจ้าใหญ่ขึ้น เพราะกลัวจะไม่แข็งแรง ทั้งๆที่แม่เองนั้นต้องทำงานหนัก นอนดึกตื่นเช้า และเลี้ยงดูพี่ชายอีกสองคน ซึ่งบ้านของข้าพเจ้าก็ไม่ได้มีทรัพย์สินอะไรมากมาย แต่ตั้งแต่ข้าพเจ้าเกิดมา ก็ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดมาตลอด ถึงแม้ว่าหากคนอื่นมอง มันอาจจะเป็นสิ่งที่ธรรมดา แต่มันก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่แม่คนหนึ่งพยายามจะหามาให้ลูกได้
น้ำนมจากแม่...สิ่งที่มีคุณค่าที่สุดสำหรับทารก กลั่นออกมาจากเลือด...เมื่อตอนเด็กๆ ข้าพเจ้าเป็นเด็กงอแง ร้องไห้ เรื่องมาก ไม่ยอมดื่มนมกระป๋อง ยอมดื่มเพียงแค่น้ำนมจากแม่ ทำให้แม่ของข้าพเจ้าต้องให้นมเกินกว่าที่ปกติแล้วผู้หญิงคนหนึ่งจะให้นมลูก ข้าพเจ้าดื่มน้ำนมแม่จนข้าพเจ้าจำความได้ จนถึงตอนนี้กระดูกของแม่ข้าพเจ้านั้นผุ ซึ่งมันก็เร็วกว่าวัยที่ควรจะเป็น แม่เป็นโรคข้อสะโพกเสื่อมต้องได้รับการผ่าตัด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสิ่งที่แม่สูญเสียไปเหล่านั้นมันกลายมาเป็นตัวของข้าพเจ้าในทุกวันนี้ ยอมเสียสละตัวเองเพื่อให้ลูกแข็งแรง แต่แม่ก็ยังไม่เคยพูดหรือโทษข้าพเจ้าเลย ถึงในตอนนี้แม่ก็ยังต้องต่อสู้กับความเจ็บปวดเพียงลำพัง
เมื่อตอนข้าพเจ้าเล็กๆ ข้าพเจ้าจะชอบไปรับพี่ชายที่โรงเรียนกับแม่ เพราะว่าที่หน้าโรงเรียนของพี่ชายนั้น จะมีร้านขายขนมมากมาย จึงอยากไปเพียงแค่คิดว่า อยากกินขนม แม่จึงต้องอุ้มข้าพเจ้าเดินไปรับพี่ชาย หากลองนึกถึงภาพผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องทั้งอุ้มทั้งจูง ลูกสองคนเดินข้ามถนนกลับบ้านทั้งหนักทั้งเหนื่อยและร้อนแต่แม่ก็ยังคงทำเหมือนมันเป็นเรื่องสบาย เมื่อถึงเวลาที่ข้าพเจ้าเข้าเรียน แม่ก็ไม่ยอมปล่อยให้ข้าพเจ้านั่งรถโรงเรียน หรือไปเรียนเอง ถึงแม้ว่างานของแม่จะยุ่งแค่ไหน แม่ก็ยังคงต้องตื่นมาทำอาหารเช้าให้กินก่อนไปโรงเรียนเสมอ และพาไปส่งที่โรงเรียน วันแรกที่ไปโรงเรียนแม่ของข้าพเจ้า นั่งเฝ้าข้าพเจ้าหน้าห้องเรียนทั้งวัน กลัวว่าถ้าหากข้าพเจ้าร้องไห้อยากกลับบ้าน แล้วไม่เจอแม่ข้าพเจ้าจะรู้สึกไม่ดี เมื่อใดก็ตามที่ข้าพเจ้าเดินออกจากห้องเรียน หากมองไปที่บันได จะมีผู้หญิงคนหนึ่งนั่งอยู่และยิ้มให้ทุกครั้ง อาจเป็นเพราะเหตุนี้ที่ทำให้ข้าพเจ้าไม่กลัวการไปโรงเรียนก็เป็นได้ แม่เคยกลัวว่าข้าพเจ้าเลิกเรียนแล้วไม่เจอใครจะร้องไห้ แม่จึงต้องมานั่งเฝ้าก่อนเวลาเลิกเรียนสองชั่วโมงทุกครั้ง เมื่อเลิกเรียนเดินลงมาจากชั้นเรียนก็จะเห็นมองที่นั่งคอยอยู่ทันที จนถึงทุกวันนี้ที่ข้าพเจ้าเรียนมหาวิทยาลัยปีสุดท้าย ความห่วงใยที่แม่มีต่อข้าพเจ้าตั้งแต่เกิดนั้น ยังเหมือนเดิม แม่จะต้องคอยถามคอยห่วงใย แม้ว่าข้าพเจ้าจะกลับดึกไหนแม่ก็ยังคงนอนรออยู่ที่โซฟา เพื่อเปิดประตูรับข้าพเจ้า และถามว่า กินข้าวมาแล้วหรือยัง ในทุกครั้ง ถ้ายังไม่ได้กินมาแม่ก็จะรีบหาข้าวให้กินทันที
สมัยตอนที่ข้าพเจ้าอยู่ในช่วงประถมพ่อกับแม่ต้องไปทำงานอีกที่หนึ่ง แต่ท่านก็ต้องหาเงินมาเซ๊งบ้านให้ข้าพเจ้าเรียนกับพี่ชายที่ยังไม่จบ เพื่อให้ข้าพเจ้าไม่ต้องเดินทางไกลๆมายังโรงเรียน ทั้งๆที่เงินของท่านนั้นแทบจะเรียกได้ว่าหมดกระเป๋า ซึ่งแม่จะต้องไปทำงานอีกที่หนึ่ง ทำให้ช่วงนั้นข้าพเจ้าต้องแยกกันอยู่กับแม่ ถึงแม้ว่ามันจะเป็นเวลาสั้นๆ ครั้งละไม่กี่วัน แต่เมื่อนานๆเข้า ข้าพเจ้าจึงคิดว่า ทำไมเราไม่ได้อยู่ด้วยกัน เหมือนกับคนอื่น จึงต้องแอบร้องไห้คนเดียวบ่อยๆ แต่ก็เข้าใจว่าท่านเองนั้นก็ไม่ได้อยากแยกจากลูก และที่ทำไปนั้นก็เพราะว่าจำเป็นที่จะต้องเลี้ยงดูเรา ต้องทำงานหนัก เดินทางไกลๆไปมา ระหว่างบ้านกับที่ทำงาน แต่ท่านก็ไม่เคยปล่อยให้ข้าพเจ้าต้องไปโรงเรียนหรือกลับจากโรงเรียนเอง ไม่ว่าจะอยู่ไกลแค่ไหน ท่านก็ต้องปรากฎตัวมารับข้าพเจ้ากลับบ้านก่อนเสมอ
ข้าพเจ้าเคยทำให้แม่เสียใจด้วยการเถียงแม่ ทั้งที่รู้ว่าสิ่งที่แม่พูดนั้นเป็นความปรารถนาดีต่อเราทั้งสิ้น แต่ท่านก็พร้อมที่จะให้อภัยเราเสมอ สิ่งที่แม่ทำให้แก่ข้าพเจ้านั้น ท่านทำให้โดยไม่หวังอะไรตอบแทน และทำอย่างมีความสุขถึงแม้ว่างานที่ทำมันจะทั้งหนักและก็น่าเบื่อก็ตาม ข้าพเจ้ากับแม่สนิทกันมาก เวลาที่มีเรื่องไม่สบายใจแม่จะจะสังเกตุเห็นได้ทุกครั้ง และเมื่อปรึกษาแม่ก็จะให้คำตอบที่ดีได้เสมอ และไม่เคยซ้ำเติมลูก
ความรักที่ยิ่งใหญ่ที่แม่มีให้นั้น มันคงไม่สามารถที่จะเล่าออกมาในกระดาษเพียงแผ่นเดียว แต่สำหรับข้าพเจ้านั้น มันยิ่งใหญ่มาก เรื่องราวต่างๆที่ผ่านมากว่า 20 ปี ที่แม่พยายามทำสิ่งต่างๆให้แก่ลูก แล้วขณะนี้ร่างกายของแม่ก็เริ่มถดถอยลงเรื่อยๆ ข้าพเจ้าอยากให้แม่มีสุขภาพแข็งแรง อยากให้แม่มีความสุข และดูแลแม่ให้ได้เหมือนที่แม่เคยทำให้มา ต่อจากนี้ไปจะไม่ทำให้แม่เหนื่อยอีกแล้ว อยากบอกว่ารักแม่ทุกเวลา
วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2552
.....สถาปนิก...
สมัยมัธยมศึกษา ก่อนที่จะมาเข้าเรียนทางด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ คิดว่าสถาปนิกเป็นอาชีพที่ดูดี ดูเท่ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งการ บุคคลิกภาพ การวางตัว ที่เป็นตัวของตัวเอง เวลาเรียนก็แต่งตัวสบายๆ ทำตัวแบบไหนก็ไม่มีใครรู้สึกว่าแปลก ก่อให้เกิดความรู้สึกประทับใจ อีกทั้งได้เห็นพี่ชายที่เรียนทางด้านการออกแบบตกแต่งภายใน เขียนแบบยิ่งทำให้รู้สึกว่าอาชีพนี้ช่างแตกต่างนัก คนธรรมดาไม่มีใครจะสามารถอ่านแบบ และเขียนแบบได้ และด้วยความที่ตนเองนั้นเป็นเด็นที่ไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือเรียน ในขณะที่เพื่อนๆอ่านหนังสือเรียนเตรียมตัวสอบแทบตาย จึงได้ไปเรียนวาดภาพความถนัดทางสถาปัตยกรรมแทบเป็นแทบตายแทน เพื่อที่จะได้เข้าในคณะสถาปัตย์ฯ คิดว่าจบมาแล้วจะได้ออกแบบบ้านสักหลังให้พ่อแม่ และไม่ต้องใช้้ชีวิตเคร่งเครียดกับการอ่านหนังสือ จึงทำให้ใจมุ่งมาทางด้านนี้ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วยังมีอีกหลายหนทางที่เข้ามาให้เลือก เปรียบเสมือนการกระทำที่ตอบสนองตัณหาความต้องการของตนเอง ทำไปเพราะรู้สึกว่าอยาก ถ้าถามว่าในขณะนั้นรู้จักอาชีพนี้ดีพอหรือยังก็คงจะตอบได้ว่ารู้ แต่ไม่ได้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง ถ่องแท้ ไม่ว่าเวลาเรียนพิเศษจะเห็นพี่ติวบอกว่า อย่าเข้าคณะนี้เลย เพราะมันจะกินเวลาส่วนตัวของเราทั้งหมด ข้าพเจ้าก็ยังไม่อยากเชื่อ และคิดว่าหากได้ทำในสิ่งที่ชอบและดู น่าสนุกขนานนี้ คงไม่รู้สึกหรอกว่าจะทำให้เราไม่มีเวลาส่วนตัว ตอนนั้นเรามองเห็นแต่ด้านดีๆ มองในแง่บวกอย่างเดียว ไม่ได้เห็นในด้านอื่นๆซึ่งมันก็เป็นความเป็นจริงของคณะี้นี้
เมื่อสอบติดคณะนี้ ในสัปดาห์แรกก็ทำให้ทราบได้แล้วว่า หนทางของการมีชีวิตในสายงานนี้คงจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่ตนเองคิดไว้ เป็นคนที่ไม่เคยนอนดึกเลยซักครั้ง แต่ชีวิตต้องหักเหเมื่อได้เข้าเรียนที่นี่ เพียงแค่ตอนที่อาจารย์มอบหมายงานวิชาเทคโนโลยีอาคารเป็นครั้งแรก ถึงแม้ว่าถ้ามองในขณะนี้มันก็เป็นเพียงแค่การเขียนรายการประกอบแบบง่ายๆ แต่รายการประกอบแบบที่เหมือนจะง่ายนี้ก็ได้ทำให้เด็กคนหนึ่งที่ไม่เคยอดนอนมาตลอดชีวิต 17 ปี อดนอนเป็นครั้งแรก เนื่องด้วย เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆที่คิดว่ามันเท่ๆ นั้น สำหรับเราที่ยังใช้ไม่ชินมันก็ไม่ได้ช่วยให้เราทำอะไรได้อย่างรวดเร็วเหมือนที่ผู้ออกแบบตั้งใจจะให้เป็น แต่ถึงอย่างไรการเรียนในปีแรกของข้าพเจ้าก็ยังรู้สึกตื่นเต้นและสนุกสนานตลอดเวลา อาจเป็นเพราะสิ่งต่างๆที่ได้ร่ำเรียนนั้น มันช้างแตกต่างกับตอนอยู่มัธยมศึกษาเสียเหลือเกิน ยิ่งพอได้ออกแบบตอนโปรเจคแรก รู้สึกว่า สนุกจัง แค่เปลี่ยนห้องครัวห้องหนึ่งเปลี่ยนไปเปลี่ยนมากว่าที่จะลงตัวก็ใช้เวลาไปสองอาทิตย์ ทุกอย่างดูตะกุกตะกักแแต่ก็เต็มไปด้วยความสนุก ถึงแม้งานจะหนักมันก็หนักเพราะเรายังไม่ชินกับมัน พอขึ้นปีสอง ความรู้สึกเหมือนกับสึนามิเข้าถล่ม งานสารพัดจะเข้ามาถาโถม อดหลับอดนอนกันจนถือเป็นเรื่องปกติ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะัยังคงไม่เชี่ยวชาญสักเท่าไหร่ แต่พอผ่านมาได้ก็รู้สึกโล่งใจว่าจริงๆแล้ว ในความเหนื่อยยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่เราได้กลับมา ก็คิดว่ามันก็ไม่แย่ซะทีเดียว ส่วนปีสามเป็นไปด้วยความสนุกสนาน ใช้ชีวิตสุขสบายหลังจากที่พายุพาดผ่านไป หารู้ไม่ว่าพายุลูกถัดมานี่จะหนักหนาขนาดไหน พอขึ้นปีสี่ ความกดดันต่างๆ ความเป็นเหตุเป็นผล รายละเอียดต่างๆที่มีในตัวงานก็เยอะขึ้น ตามมาด้วยความอดทน ความรับผิดชอบ และความพยายามของตัวเองก็ต้องเยอะขึ้นตาม ในปีนี้เองที่รู้สึกว่าท้อมาก ไม่เคยคิดว่าจะต้องมาทำ โปรเจคด้วยน้ำตา กับคำที่ว่า "ไม่รู้ว่าอาจารย์ท่านอื่นเป็นอย่างไร แต่ผมมาตรฐานสูงนะ" ในวันสุดท้ายของการส่งแบบร่าง ทำให้การลงเพลทในโปรเจคนั้น ต้องหลั่งน้ำตาเป็นครั้งแรก รู้สึกกดดันมาก ว่าทำไมเราทำเท่าไหร่ก็ยังไม่ดี ถึงแม้ว่าบางครั้งจะคิดว่าดีแล้ว แต่เราก็ไม่สามารถที่จะตัดสินงานตัวเองได้ อาจจะโดนล้มแบบวันสุดท้ายก็มีความเป็นไปได้สูง ถ้าถามว่าโกรธอาจารย์ท่านนั้นที่พูดอย่างนั้นไม่ พูดตามตรงคือไม่โกรธเลย แต่ก็รู้สึกท้อมากกว่า เพราะคำพูดนั้น เราเลยต้องตั้งใจทำงานมากขึ้น สุดท้ายมันก็ดีต่อผลงานเราเอง เลยทำให้เข้าใจว่า จะดีหรือไม่ดีมันก็เป็นงานของเรา เพราะฉะนั้นเราจะต้องตั้งใจทำมันออกมา เวลาที่เหนื่อยๆเราก็จะพาลและมัวแต่คิดว่า คิดผิดที่มาเลือกคณะนี้ ทั้งที่คณะที่สบายกว่านี้ เรียนสบายๆ หาเงินดี ก็มีตั้งเยอะ แต่พอผ่านมาได้ก็รู้สึกสบายใจ บางครั้งการที่เราถูกกดดันก็อาจจะเป็นแรงผลักดันอย่างหนึึ่่่งให้เราเคลื่อนที่ต่อ คณะนี้ก็สอนอะไรเรามากมาย พอได้ไปฝึกงานก็ยิ่งทำให้รู้ว่า สิ่งที่เราเรียนมานั้น มันยังน้อยนิดเมื่อเทียบกับความเป็นจริง เรายังต้องเรียนรู้อะไรอีกเยอะในโลกภายนอก ทั้งๆที่คิดว่าเรียนหนัก แต่บางครั้งการทำงานมันก็ไม่ได้อยู่ในตำรา
ในอนาคตก็ยังไม่ทราบได้ว่าจะได้ทำงานในสายอาชีพนี้หรือไม่ ถึงแม้ว่าใจอยากแต่อาจไม่ได้เป็นอย่างที่ต้องการเสมอไป อาชีพนี้ยังคงเป็นอาชีพที่มีความรู้ในหลายๆด้าน รู้ทุกอย่างในเชิงกว้าง ก็คิดนะว่าเหมือนเป็ดไปหรือเปล่า แต่อย่างน้อยเราก็ยังได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนที่เป็นสถาปนิกดูอายุน้อยกว่าวัย ก็รู้ว่าหนทางต่อไปก็ไม่ใช่ว่าจะสบาย แต่อย่างน้อยก็ยังอยากทำตราบใดที่ยังมีรู้สึกว่าสนุกอยู่